ปัจจุบันนี้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมีหลากหลายและมีความถี่ของภาพมากขึ้น ทำให้การจัดเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเกิดความยุ่งยากและสับสนกับผู้ใช้งานได้
อีกหนึ่งฟังก์ชันจากโปรแกรม ArcGIS Pro ที่จะช่วยตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของผู้ใช้งานให้สะดวกและเป็นระเบียบมากขึ้น นั่นคือ Multidimensional Raster ซึ่งสามารถนำภาพถ่ายดาวเทียมที่อยู่ในหลากหลายพื้นที่มาต่อเข้าไว้ด้วยกันได้ (Mosaic Datasets) จากนั้นนำมาเข้าสู่กระบวนการสร้าง Multidimensional Raster หรืออาจเรียกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากในขั้นตอนนี้ว่า Image Cube
และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการผู้ใช้งานสามารถนำไปจัดเก็บไว้และสามารถนำกลับมาใช้งานได้ตามต้องการ หรือจะ Publish ขึ้น Dashboards เพื่อส่งออกเป็น Service Product ก็ได้ตามความต้องการ
Multidimensional Raster คืออะไร?
Multidimensional Raster คือ การจัดเก็บข้อมูลภาพในรูปแบบหลายมิติ โดยข้อมูลภาพจากหลาย ๆ ไฟล์จะถูกจัดเก็บเข้าไว้ด้วยกันเป็น 1 ไฟล์เท่านั้น ซึ่งจะถูกจัดเก็บในมิติของเวลา พื้นที่ ตำแหน่ง และในข้อมูลบางอย่างจะมีข้อมูลความสูง ความลึกเข้าไว้ด้วยกัน
ข้อดีของการจัดเก็บข้อมูลในลักษณะนี้ คือ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ และสามารถเรียกกลับมาใช้ได้ตามความต้องการ นอกจากนี้การจัดเก็บข้อมูลแบบนี้ยังช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในหลายช่วงเวลา (Time Series) ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
Multidimensional Raster ทำอย่างไร?
เริ่มจากการนำเอาข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมหลาย ๆ ไฟล์ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลในหลายพื้นที่ในช่วงเวลาเดียวกันมาทำเข้าด้วยกัน (Mosaic Datasets) เป็นภาพขนาดใหญ่ในชั้นข้อมูลเดียวกัน และทำแบบนี้กับข้อมูลในช่วงเวลาอื่นๆ จากนั้นนำเอาชั้นข้อมูล Mosaic Datasets ในแต่ละช่วงเวลามาเข้าสู่กระบวกการ Multidimensional Raster โดยเลือกมิติการจัดเก็บเป็นเวลา เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วผู้ใช้งานจะได้ Image Cube ขึ้นมา 1 ไฟล์แบบ Time Series สำหรับจัดเก็บข้อมูล และหากผู้ใช้งานจะนำมาใช้งานในภายหลังอีกครั้งก็สามารถดึงเอาข้อมูลบางส่วนที่ต้องการใช้งานออกมาได้แล้วนำไปใช้งานกับฟังก์ชันอื่น ๆ ในโปรแกรมต่อได้ เช่น แยกแบนด์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมออกมาเฉพาะแบนด์ที่ต้องการ จากนั้นนำมาคำนวณเป็นดัชนีต่าง ๆ ได้ เป็นต้น
อีกทั้งยังสามารถนำเอาข้อมูลจากการประมวลผลอื่น ๆ มาเข้าสู่กระบวนการสร้าง Multidimensional Raster เพื่อสร้างเป็น Image Cube สำหรับข้อมูลอีกชุดก็ได้ เช่น ข้อมูลดัชนีความแตกต่างของพรรณพืช เป็นต้น และหากผู้ใช้งานไม่ต้องการต่อภาพในหลายพื้นที่ก็สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปแล้วสร้าง Multidimensional Raster โดยเลือกมิติการจัดเก็บเป็นเวลาได้เลย
ตัวอย่างการนำ Image Cube ใช้วิเคราะห์
การจัดเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแบบ Multidimensional Raster ข้อมูลแบนด์ต่าง ๆ หรือช่วงคลื่นต่าง ๆ ของภาพถ่ายดาวเทียมจะถูกจัดเก็บเข้าไว้ด้วยกันใน 1 ไฟล์ ดังนั้นหากผู้ใช้งานต้องการใช้งานข้อมูลเพียงบางแบนด์ก็สามารถใช้ฟังก์ชัน Extract Bands ในโปรแกรม ArcGIS Pro ในการแยกชั้นข้อมูลในแบนด์ที่ต้องการออกมาใช้งานได้
SWIR เป็นอีกช่วงคลื่นที่กำลังได้รับความสนใจ เปรียบเสมือนลูกครึ่งระหว่างช่วงคลื่น Visible ที่ตามนุษย์มองเห็นและอินฟราเรดที่มีความสามารถในการตรวจจับความร้อน นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการตรวจจับปริมาณความชื้นได้อีกด้วย ทั้งนี้หลายงานได้นำเอา SWIR มาใช้ในการวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น นำมาคำนวณดัชนีความต่างความชื้นของน้ำ (NDWI) เพื่อตรวจสอบว่าเพียงพอกับความต้องการของพืชชนิดนั้น ๆ หรือในช่วงเวลานั้น ๆ หรือไม่ เป็นต้น
และจากตัวอย่างการนำไปวิเคราะห์ข้างต้นนั้น ผู้ใช้งานสามารถนำเอาผลของการวิเคราะห์มาสร้าง Multidimensional Raster ได้อีกครั้ง เพื่อจัดเก็บเป็น Image Cube ของข้อมูลอีกชุดหนึ่งได้ โดยใช้มิติการจัดเก็บเป็นเวลา ทั้งนี้จะทำให้ข้อมูลผลของการวิเคราะห์ถูกจัดเก็บแบบ Time Series และหากผู้ใช้งานต้องการจะตรวจสอบข้อมูลด้วย Trend Line ก็สามารถทำได้
อีกทั้งยังสามารถนำเอาข้อมูลเวกเตอร์มาซ้อนทับ เพื่อตรวจสอบข้อมูลหลายช่วงเวลาในพื้นที่ที่ต้องการได้ ตัวอย่างเช่น การนำเอาข้อมูลแปลงปลูกพืชมาซ้อนทับกับข้อมูลดัชนีความต่างความชื้นของน้ำ (NDWI) และผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบรายแปลงได้ว่าปริมาณความชื้นในดินของแต่ละแปลงมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เพื่อนำเอาไปประเมินจำนวนผลผลิตต่อได้ในอนาคต เป็นต้น และสุดท้ายผู้ใช้งานสามารถแชร์ข้อมูลผ่าน ArcGIS Image Server เพื่อใช้งานข้อมูลร่วมกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรของคุณได้